ผู้เยี่ยมชมเว็บ

วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

ประวัติขอนแก่น

ประวัติจังหวัดขอนแก่น


                                    

              จากหลักฐานการสำรวจบริเวณบ้านโนนนกทา บ้านนาดี ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเวียง ของ วิลเฮล์ม จิโซลไฮม์ เรื่อง เออร์ลี่บรอนซ์ อิน นอร์ธอิสเทริน์ ไทยแลนด์ ได้ค้นพบเครื่องสำริดและเหล็กมีเครื่องมือเครื่องใช้เป็นขวาน รวมทั้งแบบแม่พิมพ์ที่ใช้หล่อ มีกำไลแขนสำริดคล้องอยู่ที่โครงกระดูกท่อนแขน ซ้อนกันหลาย วง พบกำไรทำด้วยเปลือกหอย รวมทั้งพบแหวนเหล็กไน แสดงว่ามีการปั่นด้ายทอผ้าใช้ในยุคนั้นแล้ว นอกจากนี้ ยังพบขวานทองแดง อายุ 4,600-4,800 ปี เป็นหัวขวานหัวเดียวที่พบในประเทศไทย ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ ในชั้นดินที่ 20 การกำหนดอายุโดยคาร์บอนด์ 14 จากชั้นดินที่ 19ปรากฏว่าอายุ 4,275 ปี จากหลักฐานข้างต้นพิสูจน์ให้เห็นว่าอาณาเขตบริเวณจังหวัดขอนแก่น เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรม วัฒนธรรมอันสูงสุดมาแต่ดึกดำบรรพ์ มีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนสมัยพุทธกาลหลายพันปี

 ในปี พ.ศ. 2332 ท้าวเพียเมืองแพน ได้พาบุตรพร้อมด้วยผู้คนประมาณ 330 ครอบครัว อพยพจากบ้านชีหล่น แขวงเมืองสุวรรณภูมิ (ปัจจุบันอยู่ในเขตท้องที่ อำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ด) มาตั้งอยู่ที่บ้านบึงบอน (บ้านเมืองเก่า ตำบลในเมือง อำเภอเมืองขอนแก่น ปัจจุบันนี้) เดิมขึ้นอยู่กับพระยานครราชสีมา ต่อมามีใบบอกลงมายังกรุงเทพฯและพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มีพระบรมราชโองการยกฐานะบ้านบึงบอนขึ้นเป็น "เมืองขอนแก่น" เมื่อ พ.ศ. 2340 ตั้งให้ "ท้าวศักดิ์" ซึ่งเป็น "ท้าวเพียเมืองแพน" เป็นเจ้าเมืองขอนแก่น มีนามว่า "พระนครศรีบริรักษ์บรมราชภักดี" หรือผู้ว่าราชการเมืองขอนแก่นคนแรก ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
           การตั้งชื่อเมืองขอนแก่นแต่เดิมท้องถิ่น บ้านขาม ( ตำบลบ้านขาม อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ในปัจจุบัน) มีเนินดินอยู่ตรงกลางทุ่ง มีน้ำล้อมรอบในหน้าน้ำและมีต้นมะขามต้นหนึ่งตายไปนานแล้วเหลือแต่ตอที่เป็นแก่น เมื่อมีการสร้างพระธาตุพนม พระยาหลังเขียวและพระอรหันต์ทั้ง 9 พร้อมด้วยข้าราชบริพารจะนำพระอังคารของพระพุทธเจ้าไปบรรจุที่พระธาตุพนม แต่การเดินทางมาค่ำมืดที่ตรงดอนที่มีน้ำล้อมรอบ จึงหยุดและวางสัมภาระตลอดจนพระอังคารไว้บนตอมะขาม ขณะพักผ่อนหลับนอน พอรุ่งขึ้นจึงเดินทางต่อไป
          เมื่อไปถึงพระธาตุพนมปรากฏว่าได้สร้างเสร็จแล้ว จะเอาอะไรเข้าบรรจุอีกไม่ได้จึงพากันนมัสการพระธาตุพนมแล้วเดินทางกลับมาตามทางเดิม เมื่อมาถึงเนินดินที่เคยพักผ่อน ต้นมะขามที่ตายไปเหลือแต่แก่นกลับผลิใบเขียวชอุ่มเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก พระอรหันต์ทั้ง 9 พร้อมด้วยพระยาหลังเขียวจึงตกลงสร้างเจดีย์คร่อมต้นมะขามไว้ แล้วบรรจุพระอังคารของพระพุทธเจ้าลงไว้ ชาวบ้านเรียกเจดีย์องค์นี้ว่า "พระธาตุขามแก่น"
          เมื่อท้าวเพียเมืองแพนอพยพมาจากบ้านชีหล่น มาตั้งอยู่ที่บ้านบึงบอน จึงได้ถือเอาปูชนียสถานแห่งนี้ เป็นชื่อเมืองขอนแก่น เพราะท่อนไม้แห้ง ๆ เหลือแต่แก่นนั้น ชาวพื้นเมืองจะเรียกว่า "ขอน" ท้าวเพียเมืองแพน ผู้เป็นปฐมเจ้าเมืองจึงได้ตั้งชื่อเมืองว่า "ขอนแก่น" 
เมื่อสร้างเมืองเสร็จแล้ว ท้าวเพียเมืองแพน ได้สร้างวัดขึ้น 3 วัด คือ วัดใต้ (ปัจจุบันคือ วัดธาตุพระอารามหลวง) วัดกลาง (ปัจจุบันคือ วัดกลางเมืองเก่า) และวัดเหนือ (ปัจจุบันคือ วัดหนองแวงพระอารามหลวง) เมืองขอนแก่น ตั้งอยู่บ้านดอนพันชาดเป็นเวลา 27 ปีและได้มีการย้ายที่ตั้งหลายครั้ง ที่นานที่สุดคือตั้งที่ตำบลพระลับ 55 ปี จากนั้นจึงย้ายมาที่ศูนย์ราชการปัจจุบัน มีตำแหน่งที่เรียกว่าพระนครศรีบริรักษ์ 7 คน ที่สำคัญ คือ ท้าวอิน ท้าวมุ่ง นางน้อย พระนครศรีบริรักษ์ (ท้าวจาม) 
          จังหวัดขอนแก่น ได้สร้างอนุสาวรีย์ท้าวเพียเมืองแพน บริเวณสนาม เจ ซี (เดิม) ริมบึงแก่นนครข้างที่ตั้งสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ขอนแก่นเดิม เมื่อปี 2545 ได้มีการปรับปรุงบูรณะอนุสาวรีย์และบริเวณโดยรอบจนสวยงาม และมีการทำพิธีบวงสรวงอนุสาวรีย์ท้าวเพียเมืองแพน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ทุกปี และเมื่อปี 2547 ได้มีพิธีบวงสรวงในช่วงการจัดงานเทศกาลไหมฯ ด้วยเนื่องจากเริ่มมีการแสดง แสง-เสียง เล่าตำนานเมืองลือเรื่องนครขอนแก่น ณ เวทีกลาง เป็นครั้งแรก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น